เข้าใจ “เด็กออทิสติก”

โดย ศูนย์ข้อมูลวิชาการ วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2555
 
“ออทิสติก” ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ทัศนคติด้านลบต่อเด็กกลุ่มนี้ยังคงมีอยู่ไม่ว่าจากผู้ปกครองเด็กเอง รวมถึงสังคม ทั้งที่ความจริงแล้วควรเข้าใจ และเห็นใจพวกเขามากกว่า
  
พญ.สุวรรณี เรืองเดช ผอ.รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า กลุ่มอาการออทิสติกมีความหลากหลายเยอะ พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง 4 เท่า เด็กจะอยู่ในโลกส่วนตัว  อาการหลักมี 3 อย่าง คือ 1. พัฒนาการทางด้านภาษาล่าช้า และหรือผิดปกติ 2. พัฒนาการทางด้านสังคมผิดปกติจากเด็กในวัยเดียวกัน เช่น ไม่สนใจคน  ไม่สนใจผู้อื่น อยู่แต่ในโลกของตัวเอง 3. มีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น เล่นกับตัวเอง มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ สนใจเฉพาะมุมใดมุมหนึ่งที่เป็นรายละเอียดมากเกินไป
  
ในอดีตคนมักคิดว่าเด็กออทิสติกพบในลูกคนรวย ลูกหมอ ลูกพยาบาล แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ สรุป คือ ไม่เกี่ยวกับฐานะ แต่ก่อนเรามักเจอเด็กออทิสติกตอนโตแล้ว แต่ปัจจุบันผู้ปกครองมีความรู้มากขึ้น ทำให้พบเด็กออทิส ติกอายุน้อยลง อย่าง รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์พบเด็กออทิสติกก่อน 1 ขวบก็มี โดยดูจากอาการหลัก 3 อย่างที่กล่าวในข้างต้น หรือสโลแกนที่เคยมีการรณรงค์ คือ  “เด็กไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว”  เป็นลักษณะที่เห็นได้ชัดเจน
  
เนื่องจากกลุ่มอาการออทิสติกมีหลากหลายมีตั้งแต่เป็นน้อยไปหามาก วิธีการ และกระบวนการดูแลจึงแตกต่างกัน แต่เป้าหมายของการรักษา  คือ ทำอย่างไรให้เขามีภาษาที่สมวัย มีพฤติกรรมทางสังคมที่สมวัย  และมีพฤติกรรมที่เหมาะสม สามารถอยู่ร่วมกับเด็กในวัยเดียวกันได้เป็นอย่างดี
  
ก่อนรักษาต้องประเมินเด็กว่าเป็นมากน้อยแค่ไหน การรักษาที่เหมาะสม คือ อายุน้อย ยิ่งเร็ว ยิ่งดี ด้วยกระบวนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ มีโปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสม ชัดเจน จะทำให้เด็กดีขึ้นได้เร็ว สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้
  
รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์มีประสบการณ์ดูแลเด็กออทิสติกมากว่า 40 ปี โดย ศ.พญ.เพ็ญแข ลิ่มศิลา เป็นผู้บุกเบิกงานออทิสติกของประเทศไทยและเป็นผู้ก่อตั้ง รพ.ตั้งแต่ปี 2510
  
การรักษาเด็กออทิสติกอันดับแรกสุดเลย  คือ ผู้ปกครองต้องยอมรับที่ลูกมีความผิดปกติ จากนั้นก็เรียนรู้ ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลลูกที่เหมาะสม เพราะเด็กไม่ได้อยู่กับทาง รพ.หรือฝึกกับทาง รพ.ตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่จะทำให้เขามีศักยภาพและอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นได้ ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองเป็นหลัก ดังนั้นต้องเสริมสร้างพลัง ความเข้มแข็งให้กับผู้ปกครอง รวมทั้งให้กลุ่มผู้ปกครองได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน ให้ได้ระบายความรู้สึก ความทุกข์ยาก ความทุกข์ใจ
  
เชื่อหรือไม่ว่าในอดีตหลายครอบครัวที่มีลูกออทิสติกมีการหย่าร้างกันสูง เพราะการไม่ยอมรับ พอมีลูกผิดปกติแน่นอนว่าโรคเหล่านี้มันเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ พ่อแม่ก็โทษกันไปมาว่าเป็นกรรมพันธุ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  หากเป็นครอบครัวที่ไม่ลงลอยกันอยู่บ้าง หรือครอบครัวไม่เข้มแข็งก็นำไปสู่การหย่าร้าง
  
ครั้งแรกที่ผู้ปกครองเด็กออทิส ติกมาหาหมอ รพ. มีกิจกรรม “อาฟเตอร์ ช็อก” ผู้ปกครองเป็นรายบุคคล ด้วยการคุยแบบตัวต่อตัวให้ผู้ปกครองได้ระบายความรู้สึกทุกอย่างว่า รู้สึกอย่างไรที่มีลูกเป็นออทิสติก ครอบครัวเป็นอย่างไร สามี หรือพ่อเด็กเข้าใจหรือไม่ เพราะคุณพ่อถือว่าเป็นกำลังสำคัญ เราเห็นชัดเลยว่า ครอบครัวไหนที่คุณพ่อไม่เข้าใจ แม่จะเหนื่อยมาก ไหนต้องดูแลลูกซึ่งยากอยู่แล้ว ถ้าพ่อไม่เข้าใจแม่ก็เครียด แม่ที่มีลูกออทิสติกเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูง ส่งผลต่อการดูแลลูกโดยอัตโนมัติ เรื่องเหล่านี้นำไปสู่การรักษาโดยตรง
  
ถ้าเด็กได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ก็สามารถเรียนรู้ร่วมกับเด็กปกติได้ ปัจจุบันมีเด็กออทิสติกเป็นแพทย์ วิศวกร และมีอยู่ในทุกวิชาชีพ  เด็กอาจเก่งด้านใดด้านหนึ่ง ไม่มีข้อจำกัด กระบวนการฝึกจะเปิดโอกาสให้เด็กทำทุกอย่าง โดยเฉพาะกิจกรรมสร้างสรรค์ วาดรูป ร้องเพลง อ่านหนังสือ พอเด็กเข้าเรียนจะเห็นแววว่าเขาจำเก่ง จำแม่น แสดงออกว่าสนใจเรื่องไหน ถ้าพ่อแม่สังเกตจะรู้ ตรงนี้เป็นข้อดี เพราะเด็กที่มีความสามารถพิเศษผลการรักษาค่อนข้างดี
  
เรื่องการยอมรับของสังคม ในปัจจุบันดีขึ้นมาก เด็กออทิสติกมีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ รูปลักษณ์ภายนอกดี หน้าตาดี น่ารัก เหมือนเทวดาชดเชยมาให้ เพียงแต่พฤติกรรม คำพูดคำจาเขา สังคมอาจรู้สึกแปลกกว่าเด็กคนอื่น ๆ
  
ท้ายนี้ขอให้กำลังใจพ่อแม่ที่มีลูกออทิส ติก หากเด็กไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรทำได้ตั้งแต่ก่อน 1 ขวบให้รีบพามาหาหมอ การรักษาในปัจจุบันดีมาก แม้ไม่หายขาด แต่ลูกจะดีขึ้นอย่างแน่นอน.

นวพรรษ บุญชาญ
 


  View : 7.31K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.15.146.184